เป็นโครงการนำร่องโครงการแรกตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 (PDP2018) ที่ กฟผ. ได้รับมอบหมายให้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้า พลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ หรือ Hydro-Floating Solar Hybrid Project ตามเขื่อนต่างๆ ของ กฟผ.
มีกำลังผลิตรวม 2,725 เมกะวัตต์ (MW) โครงการฯ นี้ เป็นโครงการไฮบริดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีกำลังการผลิตไฟฟ้าสุทธิ (Net Output) 45 MWac (กำลังการผลิตติดตั้ง 58.5 MWdc)
ตั้งอยู่ที่ตำบลนิคมสร้างตนเองลำโดมน้อย อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี มีขอบเขตพื้นที่โครงการ ประมาณ 760 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ผิวน้ำประมาณ 450 ไร่ คิดเป็นสัดส่วนพื้นที่ผิวน้ำไม่ถึงร้อยละ 1 ของพื้นที่ อ่างเก็บน้ำทั้งหมด ใช้แผงเซลล์แสงอาทิตย์ชนิด Double glass (Mono Crystalline Silicon) ซึ่งเป็นแผ่น กระจกทั้งด้านบนและด้านล่าง มีประสิทธิภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าสูง สามารถทนความชื้นได้ดี มีความเหมาะสมกับสภาพการใช้งานที่วางแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ใกล้ผิวน้ำได้เป็นอย่างดี สำหรับทุ่นลอยน้ำ ผลิตจากพลาสติกประเภท HDPE (High Density Polyethylene) ซึ่งเป็นวัสดุชนิดเดียวกับท่อส่งน้ำประปา มีความทนทานต่อการกัดกร่อนของรังสี UV จึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
หลักการทำงานของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร เป็นการผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสาน (Hybrid) ระหว่าง “พลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ” และ “พลังน้ำ” จากเขื่อนสิรินธร
โดยมีระบบควบคุมและบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management System: EMS) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัย สามารถบริหารจัดการ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงาน ทั้ง 2 ชนิด ให้เสริมความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการลดข้อจำกัดของ โรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ ที่การผลิตกระแสไฟฟ้า จะขึ้นกับ สภาพอากาศ ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าจาก พลังงานหมุนเวียนได้อย่างต่อเนื่อง
โครงการฯ สามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 87.87 ล้านหน่วย/ปี
ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (CO2) ได้ประมาณ 50,000 ตัน/ปี
ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตกระแสไฟฟ้า อีกทั้งยัง นำส่งเงิน เข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าในระยะก่อสร้างตามกำลังผลิต ติดตั้ง ของโรงไฟฟ้า ในอัตรา 50,000 บาท/เมกะวัตต์/ปี
และในระยะดำเนินการ ในอัตรา 1 สตางค์/หน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ คิดเป็นเงินประมาณ 800,000 บาท/ปี
เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนโดยรอบในด้านต่างๆ ตามวัตถุประสงค์ของกองทุนพัฒนาไฟฟ้านอกจากนี้ กฟผ. ยังได้พัฒนาพื้นที่โครงการฯ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ และศึกษาดูงานด้านพลังงานหมุนเวียนแบบผสมผสาน รวมทั้งพัฒนาทางเดินชมธรรมชาติ (Nature Walkway) ซึ่งเป็นจุดท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดอุบลราชธานี อันจะช่วยสร้างอาชีพและรายได้ให้กับชุมชนอีกด้วย